Q1.1: ฝุ่นละออง PM2.5 คืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร?


A1.1: ฝุ่นละออง (Particle Matter) หมายถึง อนุภาคของแข็งหรือหยดละอองของเหลวที่แขวนลอยในบรรยากาศ ซึ่งมีขนาดแตกต่างกันตั้งแต่ 100 ไมครอนลงมา เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ และเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ บางชนิดมีขนาดใหญ่จนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น ฝุ่นจากโรงโม่หิน ฝุ่นจากโรงไม้ แต่บางชนิดมีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็น ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพของประชาชน

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก แบ่งย่อยออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) PM2.5 ประกอบด้วยคำว่า PM ที่ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งมี 2 ชนิด ได้แก่ PM10 และ PM2.5 ส่วนตัวเลข 2.5 นั้น มาจาก ขนาดของฝุ่น มีหน่วยเป็นไมครอน

ดังนั้น PM2.5 ก็คือ ฝุ่นละอองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผม ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ ลอยในอากาศได้นานและไกลถึง 1,000 กิโลเมตร และอาจมีสารพิษที่เกาะมาด้วย หากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ล่องลอยอยู่ในอากาศปริมาณมาก จะเห็นท้องฟ้าเป็นสีหม่น หรือเกิดเป็นหมอกควัน


ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในประเทศไทยมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่ควบคุมได้และปัจจัยควบคุมไม่ได้ ดังนี้

ปัจจัยที่ควบคุมได้ ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
กิจกรรมของมนุษย์:
  • การเผาในที่โล่ง เช่น เผาเศษวัสดุการเกษตร เผาขยะ
  • การจราจร
  • การเผาไหม้เชื้อเพลิงอุตสาหกรรม
  • การก่อสร้างอาคาร
  • การสูบบุหรี่
  • การใช้เตาปิ้งย่างที่ทำให้เกิดควัน
  • สถานประกอบการต่าง ๆ เช่น อู่ซ่อมรถ พ่นสีรถ
  • สภาพอุตุนิยมวิทยา:
  • อากาศเย็นและแห้ง ความกดอากาศสูง
  • สภาพอากาศนิ่ง ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่แพร่กระจาย ฝุ่นละอองแขวนลอยได้นาน

  • ทั้งนี้ สาเหตุของฝุ่นละอองขนาดเล็กมีความแตกต่างกันตามแหล่งกำเนิดในแต่ละพื้นที่

    1) พื้นที่ภาคเหนือ มักเกิดจากปัญหาไฟป่าและการลักลอบเผาในที่โล่ง เช่น การเผาเศษวัชพืช การเผาเศษวัสดุทางการเกษตรประกอบกับภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะและมีภูเขาล้อมรอบ ซึ่งในช่วงหน้าแล้งอากาศแห้ง ความกดอากาศสูง ทำให้เกิดสภาวะอากาศปิด ความรุนแรงของปัญหาจึงเพิ่มขึ้น

    2) ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองหลักในภูมิภาคต่าง ๆ มีแหล่งกำเนิดหลักมาจากรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนน และเครื่องยนต์ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ รวมถึงการติดเครื่องยนต์ขณะจอดอยู่กับที่ โดยเฉพาะในช่วงที่การจราจรหนาแน่นและติดขัด ทำให้เกิดการสะสมตัวของมลพิษทางอากาศในปริมาณมาก

    นอกจากนี้ยังเกิดจากการเผาไหม้ต่าง ๆ ในบ้านเรือนหรือกิจกรรมชุมชน เช่น การจุดเตาถ่านในบ้านเรือน การปิ้งหรือย่างอาหาร ทำให้มีการสะสมมลพิษทางอากาศในปริมาณสูงขึ้น ทำให้เป็นอันตรายโดยเฉพาะในห้องที่ไม่มีช่องระบายอากาศ รวมถึงปฏิกิริยาเคมีในอากาศ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ออกไซต์ของไนโตรเจน (NOX) และสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ทำปฏิกิริยากับสารอื่นในอากาศเกิดเป็นฝุ่นละเอียดได้

    (แหล่งที่มา: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)