Q1.2: ทั่วโลกมีความตื่นตัวเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง องค์การอนามัยโลกได้แสดงเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยและการตายจากมลพิษทางอากาศอย่างไรบ้าง มีข้อเสนอต่อประเทศสมาชิกในการผลักดันร่วมกันอย่างไร?


A1.2: ประเด็นด้านมลพิษทางอากาศและสุขภาพเป็นประเด็นหนึ่งที่ทั่วโลกให้คำความสำคัญและได้กำหนดเป็นนโยบายที่ต้องร่วมกันจัดการทั้งในภาคสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดย
  1. เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ให้ความสำคัญกับมลพิษอากาศและสุขภาพ โดยกำหนดในเป้าหมายหลายส่วนทั้งในหลายส่วน ทั้งการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนเพื่อลดมลพิษอากาศในบรรยากาศ (SDG11) การใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดมลพิษทางอากาศในครัวเรือน (SDG7) การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG13) อันนำไปสู่การลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตอันเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศทั่วโลก (SDG3.9) และข้อตกลงอื่นที่สอดคล้อง เช่น ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งย้ำให้เห็นความจำเป็นในการบูรณาการข้ามภาคส่วน เพื่อบรรลุเป้าหมายข้างต้นร่วมกันเพื่อการคุ้มครอง ดูแลสุขภาพประชาชน อันเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง
  2. องค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญและกำหนดให้ประเด็นมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็น 1 ใน 5 ประเด็นขับเคลื่อนสำคัญของในปี 2019 – 2023 และได้จัดทำแผนระดับโลกในการเพิ่มความสามารถในการรองรับผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษอากาศ ปี 2016-2019 และจัดทำ Roadmap to Enhance Global Responds แผนนี้ได้รับการรับรองในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 68
  3. การประชุมระดับโลกขององค์การอนามัยโลก เรื่อง มลพิษทางอากาศและสุขภาพ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่  30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2561 ทางองค์การอนามัยโลก เน้นย้ำความสำคัญในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศให้ได้ 2 ใน 3 ภายในปี 2573 โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยเฉพาะผลกระทบต่อเด็ก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต โดยมีข้อเสนอให้ประเทศสมาชิกร่วมกันดำเนินการต่อไปนี้
  4. 1) พัฒนาข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของมลพิษทางอากาศและสุขภาพ
    2) ทำให้ได้ตามเป้าหมายในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศให้ได้ 2 ใน 3 ภายในปี 2573 และ
    3) พัฒนามาตรการสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพอากาศทั้งในบรรยากาศและในครัวเรือน จากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ทั้งอุตสาหกรรม ขนส่ง พลังงาน เกษตรกรรมและครัวเรือน รวมทั้งการสร้างความตระหนักแก่ทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งด้านสุขภาพ การเข้าถึงพลังงานที่สะอาด คุณภาพอากาศในเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


(แหล่งที่มา: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)